ออกแบบ ‘ราวกันตก’ อย่างไร เพื่อความปลอดภัยของคนที่คุณรัก
การออกแบบอาคารสถานที่ต่าง ๆ โดยปกติสถาปนิกจะมุ่งเน้นออกแบบให้เกิดความสวยงามและความปลอดภัยไปพร้อม ๆ กัน ด้านความปลอดภัยจะมี พรบ.ควบคุมอาคาร กำหนดขนาดสัดส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการอยู่อาศัยเบื้องต้น แต่การทำตาม พรบ. ควบคุมอาคารทั้งหมด ก็ไม่ได้เป็นคำตอบการันตีได้ว่าจะปลอดภัย 100%
‘ราวกันตก’ เป็นส่วนสำคัญในการแสดงขอบเขต รวมไปถึงป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และยังช่วยเพิ่มความสวยงามให้กับอาคารอีกด้วย พื้นที่หรือบริเวณที่มักจะมีราวกันตก คือ พื้นที่ซึ่งอยู่บริเวณที่มีความสูง และอาจจะเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น บริเวณระเบียงที่พักอาศัย หรือ ระเบียงตรงส่วนของบันได
ราวกันตกนั้นมีหลากหลายรูปแบบ มีหลากหลายวัสดุ ไม่ว่าจะแบบไม้ เหล็ก สเตนเลส และกระจก มีทั้งแบบตั้งเสา เสาแบบเตี้ย แบบกลาง และแบบสูง ควรเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน คุณลักษณะของราวกันตกแต่ละประเภท มีดังนี้
1. ราวกันตกไม้ (Wood Railing) ส่วนใหญ่มักเป็นไม้เนื้อแข็ง มีความเหนียว แข็งแรง ทนแดด ทนฝน ได้ดี เช่น ไม้สัก ไม้มะค่า ไม้ตะแบก ไม้แดง
• ข้อดี มีความคลาสสิก อบอุ่น มีหลากหลายสี ลวดลาย เนื้อไม้ที่แตกต่างกัน ตอบโจทย์อาคารได้หลากหลายสไตล์
• ข้อเสีย ดูแลรักษายาก อาจมีความชื้น และปัญหาแมลงต่าง ๆ เช่น มอด ปลวก
2. ราวกันตกเหล็ก (Metal Railing) เหล็ก เป็นวัสดุที่ออกแบบได้หลากหลายรูปแบบ และหลากหลายสไตล์ มีความแข็งแรงทนทาน อายุการใช้งานยาวนาน และสามารถซ่อมแซมได้ง่าย มักนิยมใช้เหล็ก
ชุบกัลวาไนซ์ หรือ เหล็กชุบสี เนื่องจากทำความสะอาดง่าย และไม่เป็นสนิม
• ข้อดี ติดตั้งง่าย ทนทาน ช่วยทำให้พื้นที่โปร่งขึ้น เหมาะกับสไตล์ลอฟท์
• ข้อเสีย หากเชื่อมไม่ดีอาจเกิดความเสียหายได้ง่าย สามารถเกิดสนิมได้ต้องเคลือบกันสนิมให้ดี
3. ราวกันตกตะแกรงเหล็กฉีก (Expanded Metal Railing) เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เหมาะกับสไตล์อาคารประเภทต่าง ๆ เช่น ลอฟท์ หรือ โมเดิร์น
• ข้อดี มีความแข็งแรง ไม่มีรอยเชื่อมหรือรอยต่อ สามารถนำไปชุบกัลวาไนซ์ เพิ่มความคงทนได้ และราคาถูก
• ข้อเสีย อาจเกิดสนิมและพุพังได้ง่าย ต้องเคลือบกันสนิมให้ดี
4. ราวกันตกอลูมิเนียม (Aluminium Railing) มีการใช้
อลูมิเนียมโปรไฟล์ (อลูมิเนียมเส้น) ทั้งแบบเหลี่ยม แบบกลม และแบบสำเร็จรูปค่อนข้างแพร่หลาย นอกจากนี้ยังสามารถสั่งทำลวดลาย และสีตามความต้องการได้
• ข้อดี น้ำหนักเบา ทนแดด สะท้อนแสงและความร้อนได้ดีมาก และราคาไม่แพง
• ข้อเสีย เป็นวัสดุที่ไม่แข็งแรงมาก หากมีการกระแทกเป็นเวลานานๆ ก็อาจจะบุบ หรือเสียรูปทรงได้
5. ราวกันตกสเตนเลส (Stainless Railing) มีทั้งแบบกลมและแบบเหลี่ยม ราคาของราวกันตก
สเตนเลสขึ้นอยู่กับรายละเอียดของลวดลาย และปริมาณของงาน
• ข้อดี มีความสวยงามด้วยผิวที่เรียบมันเงางามดูสะอาด ไม่เกิดสนิม ทำความสะอาดง่าย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
• ข้อเสีย ต้องมีความชำนาญในการติดตั้ง
6. ราวกันตกกระจก (Glass Frameless Railing) เป็นที่นิยมสำหรับอาคารทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น บ้าน ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน เป็นต้น ช่วยทำให้อาคารดูโปร่ง โล่งขึ้น สบายตา ราวกันตกกระจก ควรใช้ ‘
กระจกนิรภัยเทมเปอร์’ ที่ความหนา ประมาณ 8-10 มิลลิเมตรขึ้นไป (ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ใช้งาน) กระจกชนิดนี้มีความแข็งแรงกว่ากระจกธรรมดาทั่วไปประมาณ 4-5 เท่า ทำให้ไม่แตกง่ายเมื่อมีการกระแทก มีความปลอดภัย แต่หากเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง ควรเลือกใช้ ‘
กระจกเทมเปอร์ลามิเนต’ ความหนาตั้งแต่ 10mm ขึ้นไป
• ข้อดี ดูทันสมัย โปร่ง โล่งตา และทำให้อาคารดูกว้าง ไม่ทึบตัน
• ข้อเสีย ราคาสูง ต้องเลือกประเภทกระจกให้ดี และมีช่างติดตั้งที่ชำนาญ
7. ราวกันตกคอนกรีต (Concrete Railing) เป็นวัสดุที่ก่อสร้างได้ง่าย และรวดเร็ว สามารถออกแบบให้มีแพทเทิร์นลวดลาย หรือช่องลมได้ มีให้เลือกทั้งแบบ
คอนกรีตหล่อในที่ เสริมเหล็กเพื่อเพิ่มความแข็งแรง และแบบสำเร็จรูป
• ข้อดี ก่อสร้างง่าย แข็งแรง ทนทาน เพิ่มลูกเล่นให้ราวกันตกได้ด้วยการเจาะช่องลม
• ข้อเสีย อาคารจะดูทึบตัน และแคบ
8. ราวกันตกลายกราฟิก (Graphic Railing) มีลวดลายและเอกลักษณ์เฉพาะตัว ออกแบบได้หลายรูปแบบ ใช้กับวัสดุได้หลากหลายชนิด เช่น เหล็ก สเตนเลส อลูมิเนียม เป็นต้น เหมาะกับอาคารสไตล์คลาสสิก สไตล์ยุโรป เน้นลวดลาย และความหรูหรา
• ข้อดี ทำให้อาคารมีเอกลักษณ์ และมีความสวยงาม
• ข้อเสีย ต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญ และต้องเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพ
9. ราวกันตกผสมหลากหลายวัสดุ (Mixed Material Railing) เลือกใช้วัสดุหลากหลายมาผสมกัน เช่น ราวจับเป็นไม้ เพื่อให้อาคารดูสบายตา อบอุ่น โครงเสาเป็นอลูมิเนียม และใช้กระจกลามิเนตเทมเปอร์เป็นแผงกันตกเพื่อให้อาคารดูโปร่ง และกว้างขึ้น เป็นต้น
• ข้อดี สามารถเลือกใช้วัสดุได้ตามต้องการและงบประมาณ
• ข้อเสีย การดูแลรักษาตามความแตกต่างของวัสดุ และต้องใช้ที่ชำนาญในการติดตั้งวัสดุแต่ละประเภท
การออกแบบราวกันตกนั้นควรคำนึงถึงพฤติกรรมของคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเด็ก ผู้สูงอายุ รวมถึงสัตว์เลี้ยงของเราด้วย ควรมีความแข็งแรงมากพอต่อการรับน้ำหนักของร่างกาย ทั้งการพิง การยึดตัว การประคองตัวได้ดี เพื่อการอยู่ร่วมกันในบ้านอย่างปลอดภัย
ราวกันตกสำหรับเด็กเล็ก ควรสูงจากพื้นถึงขอบราวบนไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ซึ่งเป็นความสูงที่แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ยืนพิงได้อย่างปลอดภัย ไม่พลัดตกลงไปได้ ควรออกแบบเป็นลูกกรงวางเรียงลักษณะแนวตั้ง และไม่มีแนวขวางใดมาเป็นส่วนยึดโครง เพราะลูกกรงแนวตั้งเด็กจะไม่สามารถใช้เท้าค้ำปีนป่ายได้ ในขณะที่ลูกกรงแนวนอนจะกลายเป็นฐานไว้สำหรับปีนป่าย และควรเว้นความถี่ไม่เกิน 12 เซนติเมตร เพื่อป้องกันเด็กเล็ก เด็กผอม สามารถลอดตัวเข้าไปในช่องระหว่างลูกกรง
ราวจับสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงแล้ว ผู้สูงอายุก็เป็นอีกกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากเช่นกัน เนื่องจากความเสื่อมถอยของสภาพร่างกาย การเคลื่อนไหว และสายตาที่อาจจะมองไม่ชัดเจน นอกจากทำราวกันตกแล้ว ยังควรทำราวจับเพื่อช่วยพยุงตัวตามพื้นที่ต่างระดับ หรือจุดที่เสี่ยงต่อการล้มได้ การออกแบบสำหรับราวจับผู้สูงอายุ ควรใส่ใจความละเอียด ดังนี้
• ราวจับมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 30-45 มิลลิเมตร
• ราวจับมีความสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 0.70–0.90 เมตร
• ราวจับต้องต่อเนื่องกันตลอด และติดตั้ง 2 ข้างของทางเดินและบันได
• ราวจับตรงบันได ควรเลยจากขั้นสุดท้ายไปอีกอย่างน้อย 30 เซนติเมตร เพื่อมีระยะจับได้ต่อเนื่อง ช่วยพยุงตัวได้ดีขึ้น
• ราวจับด้านที่อยู่ติดผนังให้มีระยะห่างจากผนังไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร
• วัสดุควรเป็นสเตนเลส หรือ ไม้กลมเกลี้ยง จับได้สบายมือ ซึ่งไม่เย็นหรือร้อนตามสภาพอากาศ
• วัสดุมีความมั่นคงแข็งแรง
• วัสดุผิวเรียบ ทำความสะอาดได้ง่าย
ราวกันตกสำหรับสัตว์เลี้ยงในบ้าน ระยะห่างซี่ทั้งช่องแนวตั้งและแนวนอนขอบล่างของราวกันตกควรมีระยะห่างค่อนข้างถี่ และมีระยะห่างช่องว่างซี่ลูกกรงไม่เกิน 5 เซนติเมตร เนื่องจากเป็นระยะที่แคบที่สุดที่สัตว์เลี้ยงจะสามารถมุดลอด ตะแคงตัวออกมาได้ ควรเป็นรูปแบบทึบ หรือ หากต้องการให้มีการระบายอากาศได้ ราวกันตกแบบซี่ลูกกรงต้องเป็นแนวตั้ง ไม่มีสิ่งสำหรับปีนป่ายได้
การเลือกแบบ ลวดลาย วัสดุ ของราวกันตกให้เข้ากับสไตล์บ้านนั้น เป็นการสร้างเอกลักษณ์และความสวยงามให้บ้านน่าอยู่ยิ่งขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความปลอดภัย ราวกันตกต้องติดตั้งแข็งแรงมากเพียงพอต่อการรับน้ำหนักของร่างกาย และไม่ก่อเกิดอันตรายต่อคนในครอบครัว
ขอบคุณที่มาโดย :
ขอบคุณภาพโดย :
อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่