10 อย่างต้องทำ เทคนิคป้องกันผนังแตกร้าว
10 อย่างต้องทำ เทคนิคป้องกันผนังแตกร้าว
เมื่อพูดถึงบ้าน องค์ประกอบสำคัญของบ้านอย่างหนึ่งก็คือ ‘ผนัง’ ไม่ว่าจะเป็นบ้านแบบไหน ก็หนีไม่พ้นผนังที่ต้องใช้ปูนเป็นส่วนประกอบสำคัญ วันนี้มีเทคนิคดี ๆ เกี่ยวกับการทำงานผนังปูนทั้งก่อและฉาบ ทำอย่างไรให้ผนังปูนมีความแข็งแรง ทนทาน ไม่แตกร้าว อายุการใช้งานยาวนาน มาดูกันว่ามีวิธีใดบ้าง
1. ต้องนำอิฐแช่น้ำก่อนก่อ 1 ชั่วโมงการนำอิฐไปแช่น้ำ เพื่อให้อิฐดูดน้ำเข้าไปจนอิ่ม เวลาก่อจะได้ไม่ดูดน้ำจากปูนก่อเร็วเกินไป เพราะหากไม่แช่น้ำก่อน อิฐจะดูดซึมน้ำจากปูนก่อทำให้ปูนแห้งเร็วและเป็นสาเหตุให้ปูนแข็งเร็วเกินไปจนแตกร้าวได้
2. ต้องก่ออิฐสลับแนวแม้ว่าผนังทั่วไปจะเน้นการก่อแบบครึ่งแผ่นอิฐ หรือก่ออิฐแถวเดียว ซึ่งดูไม่น่าจะมีอะไรซับซ้อนมากนัก แต่ก็ควรก่อสลับแนว เพื่อการยึดประสานกันระหว่างชั้นอิฐ ให้ผนังออกมามีความแข็งแรง ทนทาน
3. ความหนาปูนก่อต้องไม่เกิน 1.5 เซนติเมตรสำหรับอิฐมอญความหนาปูนก่อหากมีมากจะทำให้ผนังกำแพงผิดรูป สาเหตุเกิดจากเวลาปูนก่อแห้งมันจะเกิดการหดตัว ยิ่งหนามากยิ่งหดตัวมากนั่นเอง แต่หากเป็นอิฐมวลเบาไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เพราะว่าใช้ปูนก่อน้อย หนาเพียง 2 มิลลิเมตร ก็ยึดเกาะได้ดีแล้ว
4. ต้องมีเสาเอ็นและคานทับหลังเสาเอ็นและคานทับหลัง ควรมีทุก ๆ ระยะความกว้าง 2.5 เมตร และความสูง 1.5 เมตร เพราะจะทำหน้าที่กระจายน้ำหนักของอิฐก่อผนัง และช่วยไม่ให้ผนังพังพับลงมาได้ ความกว้างของเสาเอ็นและคานทับหลังควรกว้างไม่น้อยไปกว่า 15 เซนติเมตร และหนาเท่ากับความหนาของอิฐ โดยควรมีการเสริมเหล็กโครงสร้างภายในก่อนการหล่อ เพื่อความแข็งแรงด้วย
5. ต้องทำเสาเอ็นที่บริเวณมุมผนังทุกครั้งเวลาก่ออิฐไปชนมุมห้อง จำเป็นต้องเว้นช่องไว้เพื่อทำเสาเอ็น ทั้งนี้ก็เพื่อความแข็งแรงของกำแพงและไม่ให้เกิดการแตกร้าว โดยมากผู้รับเหมามักไม่ใส่ใจอยากจะเร่งงานให้เสร็จ โดยใช้วิธีก่ออิฐมาชนกันโดยไม่ทำเสาเอ็น แบบนี้จะทำให้กำแพงแตกง่ายกว่ามาก
6. ต้องมีเสาเอ็นที่วงกบประตูและหน้าต่างทุกช่องเจาะ ควรมีเสาเอ็นและคานทับหลังล้อมเป็นกรอบไว้ เพื่อช่วยเป็นโครงให้กับวงกบประตูหรือหน้าต่าง ซึ่งจะมีการขยับเขยื้อนจากการเปิดปิดตลอดเวลา ช่วยกระจายแรงกระทำต่อผนังอิฐ และไม่ควรลืมติดลวดตะแกรงกรงไก่ที่มุมวงกบด้วย เพื่อช่วยกระจายแรงให้กับชั้นปูนฉาบด้วย
7. ต้องเสียบเหล็กหนวดกุ้งทุกระยะผนังอิฐที่แข็งแรง จะต้องมีตัวช่วยยึดชั้นก่ออิฐกับเสา ซึ่งใช้วิธีการเสียบเหล็กเส้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร เสียบไปในเสาคอนกรีตให้มีความยาวส่วนที่ยื่นออกมาไม่ต่ำกว่า 40 เซนติเมตร เพื่อยึดให้ผนังอิฐมีความแข็งแรง ไม่หลุดออกจากแนวเสาหรือล้มลงมา
8. ต้องรดน้ำอิฐก่อนการฉาบหลังจากก่อเสร็จแล้ว ควรทิ้งช่วงให้ชั้นปูนก่อเซ็ทตัว ก่อนทำการฉาบต่อไป ซึ่งก่อนฉาบ 1 วัน ควรรดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้ก่อน และรดน้ำซ้ำอีกครั้งในเช้าวันฉาบ เพื่อป้องกันอิฐแย่งน้ำจากเนื้อปูนฉาบ ซึ่งจะทำให้เกิดการแตกร้าวได้
9. ต้องใช้เครื่องผสมปูนฉาบแม้ว่าการใช้จอบแบบดั้งเดิมจะผสมปูนได้เช่นเดียวกัน แต่เนื้อปูนจะเข้ากันได้ดีกว่า หากเราใช้เครื่องมือผสม จะทำให้เนื้อปูนเข้ากันได้ดีกว่าการผสมด้วยมือ ช่วยให้เนื้อปูนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญไม่เปลืองแรงช่างด้วย
10. ต้องรดน้ำต่อไปอีกเพื่อบ่มผนังน้ำเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาความแข็งแกร่งของปูน ดังนั้น เพื่อให้เนื้อปูนมีน้ำเพียงพอต่อการทำปฏิกิริยานั้น ควรมีการรดน้ำผนังที่ฉาบเสร็จแล้วต่อไปอีกวันละอย่างน้อย 1 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 3 - 7 วันหลังฉาบเสร็จ น้ำที่นองในไซท์งานจากการรดน้ำอาจจะทำให้การทำงานในส่วนอื่นลำบากไปบ้าง แต่ไม่ควรละเลย เพราะการทำงานในขั้นตอนนี้จะส่งผลต่อการป้องกันการแตกร้าว และความแข็งแกร่งของผนัง
เทคนิคทั้งหมดนี้ช่วยให้งานผนังปูนออกมาทนทาน สวยงาม ลดโอกาสแตกร้าวได้ดี ผนังปูนที่สวยงาม ก็ทำให้บ้านสวยดูดี
ขอบคุณข้อมูลจาก: ,